อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) คืออะไร
คำว่า IoT หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) หมายถึงเครือข่ายรวมของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับระบบคลาวด์ ตลอดจนระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันเอง จากการเกิดขึ้นของชิปคอมพิวเตอร์ราคาไม่แพงและการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีแบนด์วิดท์สูง จึงทำให้ตอนนี้เรามีอุปกรณ์หลายพันล้านเครื่องที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน เครื่องดูดฝุ่น รถยนต์ และเครื่องจักรสามารถใช้เซ็นเซอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลและตอบสนองต่อผู้ใช้ได้อย่างชาญฉลาด
อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งบูรณาการ "สิ่งของ" ต่างๆ ในชีวิตประจำวันเข้ากับอินเทอร์เน็ต โดยวิศวกรคอมพิวเตอร์ได้เพิ่มเซ็นเซอร์และตัวประมวลผลให้กับของใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่ยุค 90 แล้ว อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในระยะแรกยังค่อนข้างช้าเนื่องจากชิปมีขนาดใหญ่และเทอะทะ โดยมีการใช้ชิปคอมพิวเตอร์พลังงานต่ำที่เรียกว่าแท็ก RFID เป็นครั้งแรกเพื่อติดตามอุปกรณ์ราคาแพง เมื่ออุปกรณ์ประมวลผลมีขนาดเล็กลง ชิปเหล่านี้ก็มีขนาดเล็กลง เร็วขึ้น และชาญฉลาดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ค่าใช้จ่ายในการนำหน่วยประมวลผลมาใส่ไว้ในวัตถุขนาดเล็กจึงลดลงอย่างมากในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คุณสามารถเพิ่มการเชื่อมต่อกับความสามารถในบริการเสียงของ Alexa ให้กับ MCU ที่มี RAM แบบฝังตัวน้อยกว่า 1 MB ได้ เช่น สวิตช์ไฟ อุตสาหกรรมทั้งหมดจึงได้เติบโตขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์อุปกรณ์ IoT สำหรับบ้าน ธุรกิจ และสำนักงานของเรา โดยของใช้อัจฉริยะเหล่านี้สามารถส่งข้อมูลเข้าไปยังและออกจากอินเทอร์เน็ตได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นจึงมีการเรียก “อุปกรณ์ประมวลผลที่มองไม่เห็น” และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งหมดว่าอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง
IoT ทำงานอย่างไร
ระบบ IoT โดยทั่วไปทำงานด้วยการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยระบบ IoT มีองค์ประกอบสามส่วน ได้แก่
อุปกรณ์อัจฉริยะ
นี่คืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรทัศน์ กล้องรักษาความปลอดภัย หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่มีความสามารถในการประมวลผล ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อม ข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้ หรือรูปแบบการใช้งาน และสื่อสารข้อมูลดังกล่าวผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังและจากแอปพลิเคชัน IoT
แอปพลิเคชัน IoT
แอปพลิเคชัน IoT คือชุดของบริการและซอฟต์แวร์ที่ผสานรวมข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์ IoT ต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิง หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลนี้และตัดสินใจอย่างชาญฉลาด จากนั้นจะสื่อสารการตัดสินใจเหล่านี้กลับไปยังอุปกรณ์ IoT และอุปกรณ์ IoT จะตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับอย่างชาญฉลาด
ส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก
คุณสามารถจัดการอุปกรณ์ IoT หรือฟลีตอุปกรณ์ได้ผ่านส่วนติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก โดยตัวอย่างทั่วไป ได้แก่ แอปพลิเคชันมือถือหรือเว็บไซต์ที่สามารถใช้เพื่อลงทะเบียนและควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะได้
ตัวอย่างของอุปกรณ์ IoT มีอะไรบ้าง
เรามาลองดูตัวอย่างบางส่วนของระบบ IoT ที่ใช้กันในปัจจุบันกัน ได้แก่
รถยนต์ที่เชื่อมต่อถึงกัน
มีหลายวิธีที่ยานพาหนะต่างๆ เช่น รถยนต์ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งอาจเป็นการเชื่อมต่อผ่านกล้องติดรถยนต์อัจฉริยะ ระบบแสดงผลในตัวรถ หรือแม้แต่เกตเวย์ที่เชื่อมต่อถึงกันของยานพาหนะ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากคันเร่ง เบรก มาตรวัดความเร็ว มาตรวัดระยะทาง ล้อ และถังเชื้อเพลิง เพื่อเฝ้าติดตามประสิทธิภาพของผู้ขับขี่และความสมบูรณ์ของยานพาหนะ รถยนต์ที่เชื่อมต่อถึงกันมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่
- การเฝ้าติดตามกลุ่มรถยนต์ให้เช่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและลดต้นทุน
- การช่วยให้ผู้ปกครองติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของบุตรหลาน
- การแจ้งเตือนให้เพื่อนและครอบครัวทราบโดยอัตโนมัติในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชน
- การคาดการณ์และการยับยั้งความจำเป็นในการบำรุงรักษายานพาหนะ
บ้านที่เชื่อมต่อถึงกัน
อุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบ้านเป็นหลัก ตลอดจนถึงการปรับปรุงระบบเครือข่ายในบ้าน โดยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เต้ารับไฟฟ้าอัจฉริยะจะตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าและตัวควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะช่วยให้ควบคุมอุณหภูมิได้ดียิ่งขึ้น ระบบปลูกพืชด้วยน้ำสามารถใช้เซ็นเซอร์ IoT เพื่อจัดการสวน ในขณะที่เครื่องตรวจจับควันแบบ IoT สามารถตรวจจับควันบุหรี่ได้ นอกจากนี้ ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ล็อกประตู กล้องรักษาความปลอดภัย และเครื่องตรวจจับน้ำรั่ว สามารถตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามได้ รวมถึงส่งการแจ้งเตือนให้แก่เจ้าของบ้านอีกด้วย
โดยคุณสามารถใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันสำหรับบ้านเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้แก่
- การปิดอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานโดยอัตโนมัติ
- การจัดการและการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ให้เช่า
- การค้นหาสิ่งของที่อยู่ผิดที่ เช่น กุญแจหรือกระเป๋าสตางค์
- การปรับงานประจำวันให้เป็นระบบอัตโนมัติ เช่น การดูดฝุ่น การชงกาแฟ ฯลฯ
เมืองอัจฉริยะ
แอปพลิเคชัน IoT ทำให้การวางผังเมืองและการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต่างๆ ใช้แอปพลิเคชัน IoT เพื่อจัดการกับปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยคุณสามารถใช้แอปพลิเคชัน IoT เพื่อดำเนินการต่างๆ ได้แก่
- การวัดคุณภาพอากาศและระดับการแผ่รังสี
- การลดค่าไฟด้วยระบบไฟส่องสว่างอัจฉริยะ
- การตรวจพบความต้องการในการบำรุงรักษาสำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ถนน สะพาน และท่อส่งก๊าซ
- การเพิ่มผลกำไรด้วยการจัดการที่จอดรถอย่างมีประสิทธิภาพ
อาคารอัจฉริยะ
อาคารต่างๆ เช่น วิทยาเขตของวิทยาลัยและอาคารพาณิชย์ใช้แอปพลิเคชัน IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยคุณสามารถใช้อุปกรณ์ IoT ในอาคารอัจฉริยะเพื่อดำเนินการต่างๆ ได้แก่
- การลดการใช้พลังงาน
- การลดต้นทุนการบำรุงรักษาให้ต่ำลง
- การใช้พื้นที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
IoT สำหรับอุตสาหกรรมคืออะไร
IoT สำหรับอุตสาหกรรม (IIoT) หมายถึง อุปกรณ์อัจฉริยะที่ใช้ในแวดวงการผลิต การค้าปลีก สุขภาพ และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางธุรกิจ โดยอุปกรณ์เชิงอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่เซ็นเซอร์ไปจนถึงเครื่องมือ ให้ข้อมูลโดยละเอียดแบบเรียลไทม์แก่เจ้าของธุรกิจ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ ทรัพยากรบุคคล และการผลิต โดยการลดต้นทุนและเพิ่มแหล่งที่มารายได้อีกด้วย
เรามาลองดูระบบเชิงอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่มีอยู่ในแวดวงต่างๆ กัน ได้แก่
การผลิต
IoT ระดับองค์กรในแวดวงการผลิตใช้การบำรุงรักษาแบบใช้ข้อมูลคาดการณ์เพื่อลดเวลาหยุดทำงานโดยไม่ได้วางแผน และใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของพนักงาน โดยแอปพลิเคชัน IoT สามารถคาดการณ์ความล้มเหลวของเครื่องจักรก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งช่วยลดเวลาหยุดทำงานในการผลิต ในขณะที่มีการใช้งานอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ในหมวกนิรภัยและสายรัดข้อมือ ตลอดจนกล้องคอมพิวเตอร์วิทัศน์เพื่อเตือนให้พนักงานทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
รถยนต์
การวิเคราะห์และวิทยาการหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเซ็นเซอร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตรถยนต์และการบำรุงรักษา ตัวอย่างเช่น มีการใช้เซ็นเซอร์เชิงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ของส่วนประกอบภายในยานพาหนะ การวินิจฉัยและการแก้ไขปัญหาจึงสามารถทำได้เร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ระบบ IoT สั่งชิ้นส่วนอะไหล่โดยอัตโนมัติ
โลจิสติกส์และการขนส่ง
อุปกรณ์ IoT เชิงพาณิชย์และสำหรับอุตสาหกรรมสามารถช่วยในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการจัดการสินค้าคงคลัง ความสัมพันธ์กับผู้ขาย การจัดการกลุ่มอินสแตนซ์ และการบำรุงรักษาตามกำหนดเวลา โดยบริษัทขนส่งต่างๆ ใช้แอปพลิเคชัน IoT สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อติดตามทรัพย์สินและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงในระหว่างเส้นทางการขนส่ง เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิอย่างเข้มงวดในตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ ผู้จัดการห่วงโซ่อุปทานจึงคาดการณ์ได้อย่างชาญฉลาดด้วยอัลกอริทึมการกำหนดเส้นทางและการกำหนดเส้นทางใหม่อัจฉริยะ
การค้าปลีก
Amazon กำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมในระบบอัตโนมัติและการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรในแวดวงการค้าปลีก โดยโรงงานของ Amazon ใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อติดตาม ค้นหา จัดเรียง และเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์
IoT ปรับปรุงชีวิตของเราได้อย่างไร
อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตมนุษย์และการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้เครื่องจักรทำงานที่หนักมากขึ้น รับหน้าที่ในงานที่น่าเบื่อหน่าย และทำให้คุณมีชีวิตที่มีสุขภาพดี มีประสิทธิผลในการทำงาน และสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันสามารถเปลี่ยนกิจวัตรตอนเช้าทั้งหมดของคุณได้ เมื่อคุณกดปุ่มเลื่อนการปลุก นาฬิกาปลุกจะเปิดเครื่องชงกาแฟและเปิดม่านหน้าต่างโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ตู้เย็นของคุณจะตรวจหาของชำที่หมดแล้วโดยอัตโนมัติและดำเนินการสั่งซื้อเพื่อจัดส่งถึงบ้าน ส่วนเตาอบอัจฉริยะจะแจ้งให้คุณทราบถึงเมนูสำหรับวันดังกล่าว หรืออาจถึงขั้นปรุงส่วนผสมที่เตรียมไว้ล่วงหน้า และตรวจสอบให้แน่ใจว่าอาหารกลางวันของคุณพร้อมแล้ว จากนั้นสมาร์ทวอทช์ของคุณจะกำหนดเวลาการประชุม ในขณะที่รถที่เชื่อมต่อถึงกันของคุณจะตั้งค่า GPS ให้แวะพักเพื่อเติมน้ำมันโดยอัตโนมัติ เรียกได้ว่าโอกาสต่างๆ นั้นไม่มีที่สิ้นสุดในโลกของ IoT อย่างแท้จริง!
IoT มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไรบ้าง
เร่งสร้างนวัตกรรม
อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงการวิเคราะห์ขั้นสูงเพื่อค้นพบโอกาสใหม่ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสามารถสร้างแคมเปญโฆษณาที่กำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจนโดยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า
เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกและการดำเนินการด้วย AI และ ML
ข้อมูลที่รวบรวมและแนวโน้มในอดีตสามารถนำมาใช้เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถจับคู่ข้อมูลการรับประกันกับข้อมูลที่รวบรวมโดย IoT เพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ในการบำรุงรักษาได้ ซึ่งสามารถใช้เพื่อให้บริการลูกค้าในเชิงรุกและสร้างความภักดีของลูกค้า
เพิ่มความปลอดภัย
การตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและทางกายภาพอย่างต่อเนื่องสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงประสิทธิผล และลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่รวบรวมจากการเฝ้าติดตามในสถานที่สามารถรวมเข้ากับข้อมูลเวอร์ชันฮาร์ดแวร์และเฟิร์มแวร์เพื่อกำหนดเวลาการอัปเดตระบบโดยอัตโนมัติได้
ปรับขนาดโซลูชันที่แตกต่างกัน
เทคโนโลยี IoT สามารถปรับใช้ในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเพื่อเพิ่มความพึงพอใจได้ ตัวอย่างเช่น ระบบสามารถเติมสต็อกสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยมได้ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดตลาด
เทคโนโลยี IoT คืออะไร
เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบ IoT อาจรวมถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่
การประมวลผล Edge
การประมวลผล Edge หมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อทำให้อุปกรณ์อัจฉริยะทำได้มากกว่าเพียงแค่ส่งหรือรับข้อมูลไปยังแพลตฟอร์ม IoT ของตน โดยเพิ่มหน่วยประมวลผลที่ Edge ของเครือข่าย IoT ซึ่งช่วยลดเวลาแฝงในการสื่อสาร และปรับปรุงเวลาในการตอบสนอง
การประมวลผลบนระบบคลาวด์
เทคโนโลยีระบบคลาวด์ใช้สำหรับการจัดเก็บข้อมูลระยะไกลและการจัดการอุปกรณ์ IoT โดยทำให้อุปกรณ์หลายเครื่องในเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
แมชชีนเลิร์นนิง
แมชชีนเลิร์นนิงหมายถึงซอฟต์แวร์และอัลกอริทึมที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลและตัดสินใจแบบเรียลไทม์ตามข้อมูลดังกล่าว ซึ่งสามารถปรับใช้อัลกอริทึมแมชชีนเลิร์นนิงเหล่านี้ได้ในระบบคลาวด์หรือที่ Edge
AWS IoT คืออะไรและจะช่วยคุณได้อย่างไร
AWS IoT นำ AI และ IoT มาใช้ร่วมกันเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์เพียงรายเดียวที่รวมการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ครบถ้วนเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างบริการที่ใช้งานง่ายที่ออกแบบมาสำหรับข้อมูล IoT ที่มีปริมาณมาก
AWS IoT มีบริการต่างๆ เช่น การรักษาความปลอดภัย การเข้ารหัสข้อมูล และการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลอุปกรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นบนเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และ IoT ที่ปลอดภัยและได้รับการพิสูจน์แล้ว รวมถึงปรับขนาดเพื่อรองรับอุปกรณ์หลายพันล้านรายการและข้อความอีกนับล้านล้านรายการ นอกจากนี้ AWS IoT ยังบูรณาการร่วมกับบริการของ AWS เพื่อให้คุณสามารถสร้างโซลูชันที่ครบวงจรได้อีกด้วย
สร้างด้วย AWS IoT
AWS IoT ให้บริการ IoT สำหรับโซลูชันในภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภค และเชิงพาณิชย์ โดยคุณสามารถไว้วางใจบริการของ AWS IoT เพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่เปิดเผยคุณค่าทางธุรกิจใหม่ๆ เรียกใช้การวิเคราะห์ที่ซับซ้อน รวมถึงตรวจจับและตอบสนองต่อเหตุการณ์จากอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก
เริ่มต้นใช้งาน AWS IoT ด้วยการสร้างบัญชี AWS ฟรี หากคุณเพิ่งเริ่มใช้งาน IoT เรียนรู้เรื่องพื้นฐานและเริ่มต้นสร้างแอปพลิเคชัน IoT แบบครบวงจรที่เรียบง่าย