เทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร

เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นกลไกฐานข้อมูลขั้นสูงที่เปิดรับการแบ่งปันข้อมูลที่โปร่งใสภายในเครือข่ายธุรกิจ โดยฐานข้อมูลบล็อกเชนจะจัดเก็บข้อมูลในบล็อกที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกันตามลำดับเวลาเนื่องจากคุณไม่สามารถลบหรือแก้ไขลูกโซ่ได้หากไม่ได้รับฉันทามติจากเครือข่าย ด้วยเหตุนี้ คุณจึงสามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างบัญชีแยกประเภทที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้และไม่เปลี่ยนรูปเพื่อติดตามคำสั่งซื้อ การชำระเงิน บัญชี และธุรกรรมอื่นๆ ระบบดังกล่าวมีกลไกภายในที่ป้องกันการเพิ่มธุรกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตและสร้างมุมมองของธุรกรรมร่วมเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

เหตุใดบล็อกเชนจึงมีความสำคัญ

เทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบดั้งเดิมมีอุปสรรคหลายประการสำหรับการบันทึกธุรกรรมทางการเงิน ตัวอย่างเช่น ให้ลองพิจารณาถึงการขายทรัพย์สิน เมื่อแลกเปลี่ยนเงินแล้ว ก็จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างสามารถบันทึกธุรกรรมทางการเงินได้ แต่ไม่มีแหล่งที่มาใดที่เชื่อถือได้ ผู้ขายสามารถอ้างได้อย่างง่ายดายว่าพวกเขายังไม่ได้รับเงินแม้ว่าจะได้รับแล้วก็ตาม และผู้ซื้อสามารถโต้แย้งได้อย่างเท่าเทียมกันว่าพวกเขาได้ชำระเงินไปแล้วแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ได้ชำระเงินก็ตาม

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น บุคคลที่สามที่เชื่อถือได้จึงต้องดูแลและตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม การมีอยู่ของผู้มีอำนาจส่วนกลางนี้ไม่เพียงแต่ทำให้การทำธุรกรรมซับซ้อน แต่ยังสร้างจุดเดียวที่สามารถถูกโจมตีได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งหากฐานข้อมูลส่วนกลางถูกบุกรุก ทั้งสองฝ่ายอาจประสบปัญหาได้

บล็อกเชนบรรเทาปัญหาดังกล่าวโดยการสร้างระบบแบบกระจายศูนย์และป้องกันการดัดแปลงแก้ไขเพื่อบันทึกธุรกรรม ในสถานการณ์สมมติสำหรับธุรกรรมด้านทรัพย์สิน บล็อกเชนจะสร้างบัญชีแยกประเภทหนึ่งบัญชีสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกรรมทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งสองฝ่ายและจะได้รับการอัปเดตโดยอัตโนมัติในบัญชีแยกประเภททั้งคู่แบบเรียลไทม์ ความเสียหายในข้อมูลธุรกรรมในอดีตจะทำให้บัญชีแยกประเภทเสียหายทั้งหมด คุณสมบัติเหล่านี้ของเทคโนโลยีบล็อกเชนได้นำไปสู่การนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการสร้างสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin

อุตสาหกรรมต่างๆ ใช้บล็อกเชนอย่างไร

บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ นำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยเราจะอธิบายกรณีการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ในส่วนย่อยดังต่อไปนี้:

พลังงาน

บริษัทพลังงานใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ใช้โดยตรง และปรับปรุงการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ให้ลองพิจารณาถึงการใช้งานเหล่านี้:

  • บริษัทพลังงานที่ใช้บล็อกเชนได้สร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบุคคล โดยเจ้าของบ้านที่มีแผงโซลาร์เซลล์ใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อขายพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินให้แก่เพื่อนบ้าน ซึ่งกระบวนการนี้เป็นไปโดยอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ โดยมาตรวัดอัจฉริยะจะสร้างธุรกรรม และบล็อกเชนจะบันทึกธุรกรรมดังกล่าว
  • ด้วยโครงการริเริ่มการระดมทุนจากกลุ่มบุคคลจำนวนมากบนบล็อกเชน ผู้ใช้จึงสามารถสนับสนุนและเป็นเจ้าของแผงโซลาร์เซลล์ในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานได้ ทั้งนี้ผู้สนับสนุนยังอาจได้รับค่าเช่าสำหรับชุมชนเหล่านี้เมื่อสร้างแผงโซลาร์เซลล์แล้วอีกด้วย

การเงิน

ระบบการเงินแบบดั้งเดิม เช่น ธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ ใช้บริการบล็อกเชนเพื่อจัดการการชำระเงินออนไลน์ บัญชี และการซื้อขายในตลาด ตัวอย่างเช่น Singapore Exchange Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นด้านการลงทุนที่ให้บริการซื้อขายทางการเงินทั่วเอเชีย ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างบัญชีการชำระเงินระหว่างธนาคารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการนำบล็อกเชนมาใช้ทำให้พวกเขาแก้ไขอุปสรรคหลายประการ ซึ่งรวมถึงการประมวลผลแบบกลุ่มและการกระทบยอดด้วยตนเองของธุรกรรมทางการเงินหลายพันรายการ

สื่อและความบันเทิง

บริษัทต่างๆ ด้านสื่อและความบันเทิงใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อจัดการข้อมูลลิขสิทธิ์ การตรวจสอบลิขสิทธิ์ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับค่าตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับศิลปิน ซึ่งต้องใช้ธุรกรรมหลายรายการในการบันทึกการขายหรือโอนเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ Sony Music Entertainment Japan ใช้บริการบล็อกเชนเพื่อทำให้การจัดการสิทธิ์ดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขาประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์บล็อกเชนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนในการประมวลผลด้านลิขสิทธิ์

การค้าปลีก

บริษัทค้าปลีกใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสินค้าระหว่างซัพพลายเออร์และผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายธุรกิจค้าปลีกของ Amazon ได้ยื่นสิทธิบัตรสำหรับระบบเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบว่าสินค้าทั้งหมดที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นของแท้ โดยผู้ขายของ Amazon สามารถจับคู่ซัพพลายเชนทั่วโลกได้โดยอนุญาตให้ผู้เข้าร่วม เช่น ผู้ผลิต ผู้ให้บริการจัดส่ง ผู้จัดจำหน่าย ผู้ใช้ปลายทาง และผู้ใช้รองเพิ่มกิจกรรมในบัญชีแยกประเภทหลังจากลงทะเบียนกับผู้ให้บริการออกใบรับรอง 

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีคุณสมบัติใดบ้าง

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีคุณสมบัติหลักต่างๆ ดังต่อไปนี้:

การกระจายศูนย์

การกระจายศูนย์ในบล็อกเชนหมายถึงการถ่ายโอนการควบคุมและการตัดสินใจจากเอนทิตีแบบรวมศูนย์ (บุคคล องค์กร หรือกลุ่ม) ไปยังเครือข่ายแบบกระจาย เครือข่ายบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ใช้ความโปร่งใสเพื่อลดความจำเป็นในการได้รับความไว้วางใจจากบรรดาผู้เข้าร่วม เครือข่ายเหล่านี้ยังขัดขวางผู้เข้าร่วมไม่ให้ใช้อำนาจหรือเข้าควบคุมซึ่งกันและกันในลักษณะที่ทำให้ฟังก์ชันการทำงานของเครือข่ายด้อยค่าลงอีกด้วย

การไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

การไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หมายถึงบางสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ โดยผู้เข้าร่วมไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขธุรกรรมได้เมื่อมีบุคคลบันทึกลงในบัญชีแยกประเภทที่ใช้ร่วมกันแล้ว หากบันทึกธุรกรรมมีข้อผิดพลาด คุณต้องเพิ่มธุรกรรมใหม่เพื่อย้อนกลับข้อผิดพลาด และเครือข่ายสามารถมองเห็นธุรกรรมทั้งคู่ได้

ฉันทามติ

ระบบบล็อกเชนกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความยินยอมของผู้เข้าร่วมในการบันทึกธุรกรรม โดยคุณสามารถบันทึกธุรกรรมใหม่ได้ก็ต่อเมื่อผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ในเครือข่ายให้ความยินยอมเท่านั้น

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีองค์ประกอบหลักใดบ้าง

สถาปัตยกรรมบล็อกเชนมีองค์ประกอบหลักดังต่อไปนี้:

การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์

การจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์เป็นฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันในเครือข่ายบล็อกเชนที่จัดเก็บธุรกรรม เช่น ไฟล์ที่ใช้ร่วมกันซึ่งทุกคนในทีมสามารถแก้ไขได้ ในตัวแก้ไขข้อความที่ใช้ร่วมกันส่วนใหญ่ ทุกคนที่มีสิทธิ์แก้ไขสามารถลบไฟล์ทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดว่าบุคคลใดสามารถแก้ไขได้และจะแก้ไขได้อย่างไร โดยคุณไม่สามารถลบรายการได้เมื่อได้รับการบันทึกแล้ว

สัญญาอัจฉริยะ

บริษัทต่างๆ ใช้สัญญาอัจฉริยะเพื่อจัดการสัญญาธุรกิจด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องให้บุคคลที่สามช่วยเหลือ โดยเป็นโปรแกรมที่จัดเก็บไว้ในระบบบล็อกเชนที่ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเรียกใช้การตรวจสอบเงื่อนไข if-then เพื่อให้ธุรกรรมเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างมั่นใจ ตัวอย่างเช่น บริษัทโลจิสติกส์อาจมีสัญญาอัจฉริยะที่จะชำระเงินโดยอัตโนมัติเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือ

การเข้ารหัสคีย์สาธารณะ

การเข้ารหัสคีย์สาธารณะเป็นคุณสมบัติด้านความปลอดภัยเพื่อระบุผู้เข้าร่วมในเครือข่ายบล็อกเชนโดยเฉพาะ โดยกลไกนี้จะสร้างคีย์สองชุดสำหรับสมาชิกเครือข่าย คีย์ชุดหนึ่งคือคีย์สาธารณะที่ทุกคนในเครือข่ายใช้ร่วมกัน และอีกชุดหนึ่งเป็นคีย์ส่วนตัวที่ไม่ซ้ำกันสำหรับสมาชิกทุกคน ทั้งนี้คีย์ส่วนตัวและสาธารณะจะทำงานร่วมกันเพื่อปลดล็อกข้อมูลในบัญชีแยกประเภท 

ตัวอย่างเช่น John และ Jill เป็นสมาชิกสองคนของเครือข่าย John บันทึกธุรกรรมที่เข้ารหัสด้วยคีย์ส่วนตัวของเขา Jill สามารถถอดรหัสได้ด้วยคีย์สาธารณะของเธอ ด้วยวิธีการนี้ Jill จึงมั่นใจได้ว่า John ทำธุรกรรมดังกล่าว คีย์สาธารณะของ Jill จะไม่ทำงานหากคีย์ส่วนตัวของ John ถูกดัดแปลงแก้ไข

บล็อกเชนทำงานอย่างไร

แม้ว่ากลไกบล็อกเชนพื้นฐานจะมีความซับซ้อน แต่เราจะให้ภาพรวมโดยย่อในขั้นตอนดังต่อไปนี้ โดยซอฟต์แวร์บล็อกเชนสามารถดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ได้โดยอัตโนมัติ:

ขั้นตอนที่ 1 – บันทึกธุรกรรม

ธุรกรรมในบล็อกเชนจะแสดงการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ที่จับต้องได้หรือดิจิทัลจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งในเครือข่ายบล็อกเชน โดยจะบันทึกเป็นบล็อกข้อมูลและอาจมีรายละเอียดต่างๆ เช่น

  • บุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรม
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำธุรกรรม
  • ช่วงเวลาที่มีการทำธุรกรรม
  • สถานที่ที่มีการทำธุรกรรม
  • สาเหตุที่มีการทำธุรกรรม
  • จำนวนสินทรัพย์ที่มีการแลกเปลี่ยน
  • จำนวนเงื่อนไขเบื้องต้นที่บรรลุระหว่างการทำธุรกรรม

ขั้นตอนที่ 2 – รับฉันทามติ

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ในเครือข่ายบล็อกเชนแบบกระจายต้องยอมรับว่าธุรกรรมที่บันทึกไว้นั้นถูกต้อง ซึ่งกฎของข้อตกลงอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของเครือข่าย แต่โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของเครือข่าย

ขั้นตอนที่ 3 – เชื่อมโยงบล็อก

เมื่อผู้เข้าร่วมบรรลุฉันทามติแล้ว ระบบจะเขียนธุรกรรมบนบล็อกเชนเป็นบล็อกที่เปรียบเสมือนหน้าของสมุดบัญชีแยกประเภท นอกจากธุรกรรมแล้ว แฮชที่เข้ารหัสยังได้รับการผนวกเข้ากับบล็อกใหม่ด้วย โดยแฮชทำหน้าที่เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงบล็อกเข้าด้วยกัน หากเนื้อหาของบล็อกถูกแก้ไขโดยเจตนาหรือโดยไม่ได้เจตนา ค่าแฮชจะเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้มีวิธีในการตรวจจับการดัดแปลงแก้ไขข้อมูล 

ดังนั้นบล็อกและห่วงโซ่จึงเชื่อมโยงกันอย่างปลอดภัย และคุณไม่สามารถแก้ไขได้ บล็อกเพิ่มเติมแต่ละบล็อกจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่การตรวจสอบบล็อกก่อนหน้า รวมถึงบล็อกเชนทั้งหมดด้วย ซึ่งเปรียบเสมือนการเรียงบล็อกไม้เพื่อต่อเป็นหอคอย โดยคุณสามารถวางบล็อกทับซ้อนกันได้เท่านั้น และหากคุณนำบล็อกออกจากส่วนกลางของหอคอย หอคอยทั้งหมดก็จะพังลงมา

ขั้นตอนที่ 4 – แบ่งปันบัญชีแยกประเภท

ระบบจะแจกจ่ายสำเนาล่าสุดของบัญชีแยกประเภทให้แก่ผู้เข้าร่วมทั้งหมด

เครือข่ายบล็อกเชนมีประเภทใดบ้าง

เครือข่ายแบบกระจายศูนย์หรือแบบกระจายในบล็อกเชนมี 4 ประเภทหลัก ได้แก่

เครือข่ายบล็อกเชนแบบเปิดสาธารณะ

เครือข่ายบล็อกเชนแบบเปิดสาธารณะเป็นระบบเปิดและอนุญาตให้ทุกคนเข้าร่วมได้ สมาชิกทุกคนในบล็อกเชนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการอ่าน แก้ไข และตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกเชน โดยผู้คนส่วนใหญ่ใช้บล็อกเชนสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนและขุดสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin, Ethereum และ Litecoin 

เครือข่ายบล็อกเชนแบบปิด

องค์กรเดียวควบคุมบล็อกเชนแบบปิดหรือที่เรียกว่าบล็อกเชนที่มีการจัดการ โดยผู้มีอำนาจกำหนดว่าบุคคลใดสามารถเป็นสมาชิกได้และมีสิทธิ์ใดบ้างในเครือข่าย ทั้งนี้บล็อกเชนแบบปิดมีการกระจายศูนย์เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึง Ripple ซึ่งเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลสำหรับธุรกิจ คือตัวอย่างของบล็อกเชนแบบปิด

เครือข่ายบล็อกเชนแบบไฮบริด

เครือข่ายบล็อกเชนแบบไฮบริดรวมองค์ประกอบต่างๆ จากทั้งเครือข่ายแบบปิดและแบบเปิดสาธารณะ บริษัทต่างๆ สามารถตั้งค่าระบบแบบปิดที่ใช้สิทธิ์การได้รับอนุญาตควบคู่ไปกับระบบแบบเปิดได้ ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจึงควบคุมการเข้าถึงข้อมูลเฉพาะที่จัดเก็บไว้ในบล็อกเชนได้ในขณะที่ยังคงให้สาธารณะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เหลือได้ โดยพวกเขาใช้สัญญาอัจฉริยะเพื่อให้สมาชิกสาธารณะตรวจสอบว่าธุรกรรมส่วนตัวเสร็จสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ตัวอย่างเช่น บล็อกเชนแบบไฮบริดสามารถให้สิทธิ์ในการเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลแก่สาธารณะได้ในขณะที่ยังคงควบคุมสกุลเงินที่ธนาคารเป็นเจ้าของให้เป็นส่วนตัวได้

เครือข่ายบล็อกเชนแบบเฉพาะกลุ่ม

กลุ่มองค์กรควบคุมเครือข่ายบล็อกเชนของกลุ่ม โดยองค์กรที่เลือกไว้ล่วงหน้ามีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาบล็อกเชนและกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล อุตสาหกรรมที่หลายองค์กรมีเป้าหมายร่วมกันและได้รับประโยชน์จากความรับผิดชอบร่วมกัน มักจะชื่นชอบเครือข่ายบล็อกเชนแบบเฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่น Global Shipping Business Network Consortium เป็นกลุ่มความร่วมมือบล็อกเชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลเป็นแบบดิจิทัล และเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเดินเรือ

โปรโตคอลบล็อกเชนคืออะไร

คำว่าโปรโตคอลบล็อกเชนหมายถึงแพลตฟอร์มบล็อกเชนประเภทต่างๆ ที่พร้อมใช้งานสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยโปรโตคอลบล็อกเชนแต่ละรายการจะปรับหลักการบล็อกเชนพื้นฐานให้เหมาะกับอุตสาหกรรมหรือแอปพลิเคชันเฉพาะ ซึ่งตัวอย่างบางส่วนของโปรโตคอลบล็อกเชนมีระบุไว้ในส่วนย่อยดังต่อไปนี้:

Hyperledger Fabric

Hyperledger Fabric เป็นโครงการแบบโอเพนซอร์สพร้อมชุดเครื่องมือและไลบรารี โดยองค์กรสามารถใช้ Hyperledger Fabric เพื่อสร้างแอปพลิเคชันบล็อกเชนแบบปิดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กแบบโมดูลเอนกประสงค์ที่มีการจัดการข้อมูลประจำตัวเฉพาะและคุณสมบัติในการควบคุมการเข้าถึง คุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้ Hyperledger Fabric เหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย เช่น ระบบติดตามซัพพลายเชน สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ การตอบแทนและรางวัล และการชำระราคาของสินทรัพย์ทางการเงิน

Ethereum

Ethereum เป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนโอเพนซอร์สแบบกระจายศูนย์ที่ผู้คนสามารถใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันบล็อกเชนสาธารณะได้ โดย Ethereum Enterprise ออกแบบมาสำหรับกรณีการใช้งานทางธุรกิจ

Corda

Corda เป็นโครงการบล็อกเชนแบบโอเพนซอร์สที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจ Corda ช่วยให้คุณสามารถสร้างเครือข่ายบล็อกเชนที่ทำงานร่วมกันได้ซึ่งทำธุรกรรมด้วยความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ธุรกิจต่างๆ จึงสามารถใช้เทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะของ Corda เพื่อทำธุรกรรมโดยตรงได้อย่างคุ้มค่า โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงิน

Quorum

Quorum เป็นโปรโตคอลบล็อกเชนแบบโอเพนซอร์สที่สืบทอดมาจาก Ethereum ซึ่งได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อใช้ในเครือข่ายบล็อกเชนแบบปิด ซึ่งมีสมาชิกเพียงคนเดียวที่เป็นเจ้าของโหนดทั้งหมด หรือในเครือข่ายบล็อกเชนแบบเฉพาะกลุ่มที่สมาชิกหลายคนแต่ละคนเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของเครือข่าย

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีวิวัฒนาการอย่างไร

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีต้นกำเนิดมาจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เมื่อนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อว่า Ralph Merkle จดสิทธิบัตรต้นไม้ Hash หรือต้นไม้ Merkle โดยต้นไม้เหล่านี้เป็นโครงสร้างวิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับการจัดเก็บข้อมูลด้วยการเชื่อมโยงบล็อกโดยใช้การเข้ารหัส ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ทางด้านของ Stuart Haber และ W. Scott Stornetta ใช้ต้นไม้ Merkle เพื่อใช้ระบบที่ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขการประทับเวลาของเอกสารได้ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างแรกในประวัติศาสตร์ของบล็อกเชน

โดยเทคโนโลยียังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 3 ยุคดังต่อไปนี้:

ยุคแรก – Bitcoin และสกุลเงินเสมือนอื่นๆ

ในปี 2008 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนิรนามที่รู้จักเพียงชื่อว่า Satoshi Nakamoto ได้สรุปเทคโนโลยีบล็อกเชนในรูปแบบปัจจุบัน โดยแนวคิดของ Satoshi เกี่ยวกับบล็อกเชน Bitcoin จะใช้บล็อกข้อมูล 1 MB สำหรับธุรกรรม Bitcoin ซึ่งคุณสมบัติหลายอย่างของระบบบล็อกเชน Bitcoin ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน

ยุคที่สอง – สัญญาอัจฉริยะ

ไม่กี่ปีหลังจากสกุลเงินดิจิทัลรุ่นแรกถือกำเนิดขึ้น นักพัฒนาก็เริ่มพิจารณาถึงแอปพลิเคชันบล็อกเชนอื่นๆ นอกเหนือจากสกุลเงินดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ผู้คิดค้น Ethereum ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในธุรกรรมการถ่ายโอนสินทรัพย์ โดยคุณสมบัติสัญญาอัจฉริยะถือเป็นผลงานที่สำคัญของพวกเขา

ยุคที่สาม – อนาคต

ในขณะที่บริษัทต่างๆ ค้นพบและใช้การประยุกต์ใช้ใหม่ๆ เทคโนโลยีบล็อกเชนก็ยังคงพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทต่างๆ กำลังแก้ไขข้อจำกัดของขนาดและการคำนวณ และโอกาสที่เป็นไปได้นั้นไร้ขีดจำกัดในการปฏิวัติด้านบล็อกเชนที่กำลังเกิดขึ้น

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อดีใดบ้าง

เทคโนโลยีบล็อกเชนนำเสนอข้อดีมากมายให้แก่การจัดการธุรกรรมสินทรัพย์ โดยเราแสดงข้อดีบางประการไว้ในส่วนย่อยดังต่อไปนี้:

ความปลอดภัยขั้นสูง

ระบบบล็อกเชนมอบความปลอดภัยและความไว้วางใจในระดับสูงที่ธุรกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ต้องการ แน่นอนว่ามีความกังวลอยู่เสมอว่าจะมีบุคคลจัดการซอฟต์แวร์พื้นฐานเพื่อสร้างเงินปลอมให้ตัวเอง แต่บล็อกเชนใช้หลักสามประการของการเข้ารหัส การกระจายศูนย์ และฉันทามติเพื่อสร้างระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกดัดแปลงแก้ไข เนื่องจากไม่มีจุดล้มเหลวเพียงจุดเดียว และผู้ใช้คนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบันทึกธุรกรรมได้

ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

ธุรกรรมระหว่างหน่วยธุรกิจอาจใช้เวลานานและก่อให้เกิดปัญหาคอขวดในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดและหน่วยงานกำกับดูแลภายนอกมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ความโปร่งใสและสัญญาอัจฉริยะในบล็อกเชนทำให้ธุรกรรมทางธุรกิจดังกล่าวรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การตรวจสอบที่เร็วขึ้น

องค์กรต้องสามารถสร้าง แลกเปลี่ยน เก็บถาวร และสร้างธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นใหม่ได้อย่างปลอดภัยในลักษณะที่ตรวจสอบได้ บันทึกบล็อกเชนนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามลำดับเวลา ซึ่งหมายความว่าระบบจะเรียงลำดับบันทึกทั้งหมดตามเวลาเสมอ ความโปร่งใสของข้อมูลนี้ทำให้การประมวลผลการตรวจสอบรวดเร็วยิ่งขึ้น

Bitcoin และบล็อกเชนแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

Bitcoin และบล็อกเชนอาจใช้แทนกันได้ แต่ทั้งคู่เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน เนื่องจาก Bitcoin เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในยุคแรก ผู้คนจึงเริ่มใช้ Bitcoin เพื่อสื่อความหมายถึงบล็อกเชนโดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้เกิดการเรียกชื่อผิดนี้ขึ้น แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนมีการประยุกต์ใช้มากมายนอกเหนือจาก Bitcoin

Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานโดยไม่มีการควบคุมจากศูนย์กลาง แต่เดิมนั้น มีการสร้าง Bitcoin ขึ้นเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินทางออนไลน์ แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถแปลงเป็นสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลกได้ เช่น USD หรือยูโร โดยเครือข่ายบล็อกเชน Bitcoin แบบเปิดสาธารณะจะสร้างและจัดการบัญชีแยกประเภทกลาง 

เครือข่าย Bitcoin

บัญชีแยกประเภทสาธารณะบันทึกธุรกรรม Bitcoin ทั้งหมด และเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกต่างมีสำเนาของบัญชีแยกประเภทนี้ เซิร์ฟเวอร์จึงเปรียบเสมือนธนาคาร แม้ว่าแต่ละธนาคารจะรับทราบเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเงินที่ลูกค้าแลกเปลี่ยน แต่เซิร์ฟเวอร์ Bitcoin นั้นรับรู้ถึงธุรกรรม Bitcoin ทุกรายการที่เกิดขึ้นในโลก

ไม่ว่าใครที่มีคอมพิวเตอร์สำรองสักเครื่องก็สามารถตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ซึ่งเรียกว่าโหนดได้ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเปิดธนาคาร Bitcoin ของคุณเองแทนที่จะเป็นบัญชีธนาคาร

การขุด Bitcoin

ในเครือข่าย Bitcoin สาธารณะ สมาชิกจะขุดหาสกุลเงินดิจิทัลโดยการแก้สมการในการเข้ารหัสเพื่อสร้างบล็อกใหม่ ระบบจะเผยแพร่ธุรกรรมใหม่แต่ละรายการสู่สาธารณะไปยังเครือข่ายและแบ่งปันจากโหนดหนึ่งไปยังอีกโหนดหนึ่ง ทุกๆ 10 นาทีหรือราวๆ นั้น นักขุดจะรวบรวมธุรกรรมเหล่านี้ไว้ในบล็อกใหม่และเพิ่มเข้าไปยังบล็อกเชนอย่างถาวร ซึ่งทำหน้าที่เหมือนสมุดบัญชีขั้นสุดท้ายของ Bitcoin

ทั้งนี้การขุดต้องใช้ทรัพยากรการในการประมวลผลจำนวนมหาศาลและใช้เวลานานเนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการด้านซอฟต์แวร์ นักขุดจึงได้รับสกุลเงินดิจิทัลจำนวนเล็กน้อยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน โดยนักขุดเปรียบเสมือนเสมียนสมัยใหม่ที่บันทึกธุรกรรมและเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม

จากนั้นผู้เข้าร่วมทุกคนในเครือข่ายจะบรรลุฉันทามติว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเหรียญใด โดยใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสบล็อกเชน

ฐานข้อมูลและบล็อกเชนแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

บล็อกเชนเป็นระบบจัดการฐานข้อมูลชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติมากกว่าฐานข้อมูลปกติ โดยเราอธิบายความแตกต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างฐานข้อมูลแบบดั้งเดิมและบล็อกเชนไว้ในรายการต่อไปนี้:

  • บล็อกเชนกระจายศูนย์การควบคุมโดยไม่ทำลายความไว้วางใจในข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบฐานข้อมูลอื่น
  • บริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมไม่สามารถแบ่งปันฐานข้อมูลทั้งหมดของตนได้ แต่ในเครือข่ายบล็อกเชน แต่ละบริษัทจะมีสำเนาของบัญชีแยกประเภท และระบบจะดูแลรักษาความสอดคล้องกันระหว่างบัญชีแยกประเภทสองรายการโดยอัตโนมัติ
  • แม้ว่าในระบบฐานข้อมูลส่วนใหญ่ คุณสามารถแก้ไขหรือลบข้อมูลได้ แต่ในบล็อกเชน คุณสามารถทำได้เพียงแทรกข้อมูลเท่านั้น

บล็อกเชนแตกต่างจากระบบคลาวด์อย่างไร

คำว่าคลาวด์หมายถึงบริการประมวลผลที่สามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ คุณสามารถเข้าถึง Software as a Service (SaaS), Product as a Service (PaaS) และ Infrastructure as a Service (IaaS) ได้จากระบบคลาวด์ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์จัดการฮาร์ดแวร์และโครงสร้างพื้นฐาน และให้คุณเข้าถึงทรัพยากรในการคำนวณเหล่านี้ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยพวกเขาให้ทรัพยากรที่มากกว่าเพียงแค่การจัดการฐานข้อมูล หากคุณต้องการเข้าร่วมเครือข่ายบล็อกเชนแบบเปิดสาธารณะ คุณต้องจัดเตรียมทรัพยากรฮาร์ดแวร์เพื่อจัดเก็บสำเนาบัญชีแยกประเภทของคุณ คุณสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์จากระบบคลาวด์เพื่อจุดประสงค์นี้ได้เช่นกัน ผู้ให้บริการระบบคลาวด์บางรายยังนำเสนอ Blockchain as a Service (BaaS) แบบสมบูรณ์จากระบบคลาวด์อีกด้วย

Blockchain as a Service คืออะไร

Blockchain as a Service (BaaS) เป็นบริการบล็อกเชนที่มีการจัดการซึ่งบุคคลที่สามให้บริการในระบบคลาวด์ คุณสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันบล็อกเชนและบริการดิจิทัล ในขณะที่ผู้ให้บริการระบบคลาวด์จัดหาเครื่องมือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและบล็อกเชน โดยสิ่งที่คุณต้องทำคือการปรับแต่งเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีอยู่ ซึ่งทำให้การนำบล็อกเชนไปใช้งานนั้นรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น   

บริการ AWS Blockchain คืออะไร

บริการ AWS Blockchain มีเครื่องมือที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการของคุณ โดยคุณสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อสร้างทุกสิ่งตั้งแต่ฐานข้อมูลบัญชีแยกประเภทแบบรวมศูนย์ที่เก็บรักษาบันทึกธุรกรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ไปจนถึงเครือข่ายบล็อกเชนที่มีหลายฝ่ายและมีการจัดการเต็มรูปแบบซึ่งช่วยขจัดคนกลาง AWS มีโซลูชันบล็อกเชนที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องมากมายจากพาร์ทเนอร์ที่สนับสนุนโปรโตคอลบล็อกเชนหลักทั้งหมด ได้แก่ Hyperledger, Corda, Ethereum, Quorum และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ คุณจึงสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันบล็อกเชนและบัญชีแยกประเภทได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย AWS บริการ AWS Blockchain บางส่วนที่มีประโยชน์มีดังนี้:

Amazon Quantum Ledger Database (QLDB) เป็นฐานข้อมูลแบบบัญชีแยกประเภทที่มีการจัดการเต็มรูปแบบซึ่งมีบันทึกธุรกรรมที่โปร่งใส เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และตรวจสอบได้โดยใช้การเข้ารหัส ซึ่งมีรายงานบันทึกในตัวที่จัดเก็บรายการที่ถูกต้องและจัดลำดับของการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทุกรายการ โดยรายงานบันทึกดังกล่าวเป็นแบบผนวกเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลลงในรายงานบันทึกได้ แต่ไม่สามารถเขียนทับหรือลบออกได้ 

Amazon Managed Blockchain เป็นบริการที่มีการจัดการเต็มรูปแบบซึ่งทำให้สามารถเข้าร่วมเครือข่ายสาธารณะหรือสร้างและจัดการเครือข่ายส่วนตัวที่ปรับขนาดได้อย่างง่ายดายโดยใช้ Hyperledger Fabric และ Ethereum เริ่มต้นใช้งานบล็อกเชนด้วยการสร้างบัญชี AWS วันนี้

Amazon Managed Blockchain คืออะไร วิดีโอ

Blockchain บน AWS คืออะไร
  • ชื่อบริการ
  • หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์
  • วันที่เปิดตัว (ใหม่สุดก่อน)
  • วันที่เปิดตัว (เก่าสุดก่อน)
ไม่พบผลลัพธ์
1

ขั้นตอนต่อไปบน AWS

ดูแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการบล็อกเชน 
ลงชื่อสมัครใช้บัญชีฟรี

รับสิทธิ์การเข้าถึง AWS Free Tier ได้ทันที

ลงชื่อสมัครใช้งาน 
เริ่มต้นการสร้างในคอนโซล

เริ่มต้นสร้างในคอนโซลการจัดการของ AWS

ลงชื่อเข้าใช้