CDN คืออะไร

Content Delivery Network (CDN) คือเครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์ที่เชื่อมต่อกันซึ่งเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บสำหรับแอปพลิเคชันที่มีข้อมูลจำนวนมาก CDN อาจเป็นตัวย่อของ Content Delivery Network (เครือข่ายการส่งมอบเนื้อหา) หรือ Content Distribution Network (เครือข่ายการกระจายเนื้อหา) ก็ได้ เมื่อผู้ใช้เข้าชมเว็บไซต์ ข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์นั้นๆ จะเดินทางผ่านอินเทอร์เน็ตไปถึงคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ หากผู้ใช้อยู่ไกลจากเซิร์ฟเวอร์นั้น การโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น วิดีโอหรือรูปภาพเว็บไซต์ ก็จะใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม หากจัดเก็บเนื้อหาเว็บไซต์ไว้บนเซิร์ฟเวอร์ CDN ที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้มากกว่าในทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลก็จะไปถึงคอมพิวเตอร์ได้เร็วกว่า

เหตุใด CDN จึงสำคัญ

จุดประสงค์หลักของ Content Delivery Network (CDN) คือ การลดเวลาแฝงหรือลดความล่าช้าของการสื่อสารที่เกิดขึ้นจากการออกแบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ตครอบคลุมทั่วโลกและมีความซับซ้อน การรับส่งข้อมูลการสื่อสารระหว่างเว็บไซต์ (เซิร์ฟเวอร์) กับผู้ใช้ (ไคลเอ็นต์) จึงต้องเคลื่อนย้ายผ่านระยะทางที่ไกลยิ่งขึ้น การสื่อสารก็เป็นแบบสองทาง คือคำขอที่เดินทางจากไคลเอ็นต์ไปยังเซิร์ฟเวอร์และการตอบกลับที่เดินทางกลับมา

CDN ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพโดยการนำเซิร์ฟเวอร์ตัวกลางมาใช้ระหว่างเซิร์ฟเวอร์ไคลเอ็นต์และเซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์ เซิร์ฟเวอร์ CDN เหล่านี้จะจัดการการสื่อสารของเซิร์ฟเวอร์ไคลเอ็นต์บางตัว โดยลดปริมาณการรับส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ของเว็บ ลดการใช้แบนวิดท์ และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชัน

CDN มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

Content Delivery Network (CDN) มีประโยชน์มากมายที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์และรองรับโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายหลัก ตัวอย่างของสิ่งที่ CDN ทำได้มีดังนี้

ลดเวลาในการโหลดหน้า

การรับส่งข้อมูลของเว็บไซต์อาจลดลงได้หากเวลาในการโหลดหน้าช้าเกินไป CDN สามารถลดอัตราตีกลับและเพิ่มเวลาที่ผู้ใช้จะอยู่บนเว็บไซต์ของคุณ

ลดค่าใช้จ่ายแบนวิดท์

ค่าใช้จ่ายแบนวิดท์เป็นค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญ เนื่องจากคำขอเว็บไซต์ทุกรายการที่เข้ามาจะใช้แบนวิดท์เครือข่าย CDN สามารถลดปริมาณข้อมูลที่ต้องได้รับจากเซิร์ฟเวอร์ต้นทางด้วยการแคชและการเพิ่มประสิทธิภาพอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการโฮสต์ของเจ้าของเว็บไซต์

เพิ่มความพร้อมใช้งานของเนื้อหา

ผู้เข้าชมจำนวนมากเกินไปในหนึ่งครั้งหรือความล้มเหลวของฮาร์ดแวร์เครือข่ายอาจทำให้เว็บไซต์ล่มได้ บริการ CDN สามารถรับมือการรับส่งข้อมูลบนเว็บไซต์ได้มากกว่าและลดเวิร์กโหลดบนเซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์ นอกจากนี้ หากเซิร์ฟเวอร์ CDN อย่างน้อยหนึ่งรายการออฟไลน์ เซิร์ฟเวอร์ปฏิบัติการอื่นๆ จะแทนที่เซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นได้ เพื่อมั่นใจว่าบริการจะไม่หยุดชะงัก

ปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยของเว็บไซต์

การโจมตีแบบ Distributed Denial-of-Service (DDoS) จะพยายามหยุดการทำงานของแอปพลิเคชันโดยส่งการรับส่งข้อมูลปลอมจำนวนมหาศาลไปยังเว็บไซต์ CDN สามารถจัดการกับการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้โดยการกระจายเวิร์กโหลดระหว่างเซิร์ฟเวอร์ตัวกลางหลายๆ ตัว เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง

เทคโนโลยี CDN มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

เทคโนโลยี Content Delivery Network (CDN) เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยมุ่งเน้นที่การส่งมอบเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็วขึ้น

รุ่นแรก

บริการ CDN รุ่นแรกให้ความสำคัญกับหลักการเครือข่ายของการจัดการรับส่งข้อมูลเครือข่ายอัจฉริยะและศูนย์ข้อมูลสำหรับการจำลอง

รุ่นที่สอง

CDNs รุ่นที่สองเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของบริการสตรีมเสียงและวิดีโอ โดยเฉพาะวิดีโอตามความต้องการและข่าวตามความต้องการ เทคโนโลยีนี้ยังพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายใหม่ๆ ในการแสดงคอนเทนต์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ บริษัทใช้เทคนิกการประมวลผลบนคลาวด์และเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer เพื่อเร่งการแสดงคอนเทนต์

รุ่นที่สาม

CDN รุ่นที่สามยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา AWS กำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ CDN ชั้นนำของโลก เนื่องจากบริการเว็บส่วนใหญ่รวมศูนย์อยู่ในระบบคลาวด์ ตอนนี้ความสนใจจึงพุ่งไปที่การประมวลผล Edge ซึ่งเป็นการจัดการการใช้แบนวิดท์ด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะที่สื่อสารได้อย่างชาญฉลาด เครือข่าย Edge ที่เป็นอัตโนมัติและมีการจัดการด้วยตนเองอาจเป็นก้าวต่อไปของเทคโนโลยี CDN

CDN สามารถส่งมอบเนื้อหาอินเทอร์เน็ตใดได้บ้าง

Content Delivery Network (CDN) สามารถส่งมอบเนื้อหาสองประเภท ได้แก่ เนื้อหาแบบคงที่และเนื้อหาแบบไดนามิก

เนื้อหาแบบคงที่

เนื้อหาแบบคงที่คือข้อมูลเว็บไซต์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผู้ใช้ถึงผู้ใช้ รูปภาพส่วนหัวของเว็บไซต์ โลโก้ และรูปแบบฟอนต์จะเป็นแบบเดียวกันสำหรับผู้ใช้ทั้งหมด และธุรกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเหล่านี้บ่อยนัก ข้อมูลแบบคงที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน ประมวลผล หรือสร้างขึ้น และเหมาะสำหรับการจัดเก็บบน CDN

เนื้อหาแบบไดนามิก

เนื้อหาแบบไดนามิก เช่น ฟีดข่าวในโซเชียลมีเดีย รายงานสภาพอากาศ สถานะการเข้าสู่ระบบ และข้อความแชทจะแตกต่างกันไปตามผู้ใช้เว็บไซต์แต่ละราย ข้อมูลนี้จะเปลี่ยนแปลงตามตำแหน่งของผู้ใช้ เวลาที่เข้าสู่ระบบ หรือการตั้งค่าของผู้ใช้ และเว็บไซต์ต้องสร้างข้อมูลสำหรับผู้ใช้ทุกคนและการโต้ตอบของผู้ใช้ทุกรายการ

CDN ทำงานอย่างไร

Content Delivery Network (CDN) ทำงานโดยการสร้าง Point of Presence (POP) หรือกลุ่มของเซิร์ฟเวอร์ CDN Edge ในสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์หลายแห่ง เครือข่ายที่กระจายตัวตามสถานที่ต่างๆ นี้จะทำงานด้วยหลักการของการแคช การเร่งแบบไดนามิก และการประมวลผลตรรกะ Edge

การแคช

การแคชคือกระบวนการจัดเก็บสำเนาของข้อมูลเดียวกันหลายๆ ชุด เพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ในการประมวลผล หลักการการแคชจะมีผลกับหน่วยความจำและการจัดการการเก็บข้อมูลทุกประเภท ในเทคโนโลยี CDN คำนี้หมายถึงกระบวนการเก็บเนื้อหาเว็บไซต์แบบคงที่บนหลายเซิร์ฟเวอร์ในเครือข่าย การแคชใน CDN มีวิธีการทำงานดังนี้

  1. ผู้เข้าชมเว็บไซต์จากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลสร้างคำขอแรกสำหรับเนื้อหาเว็บแบบคงที่จากเว็บไซต์ของคุณ
  2. คำขอไปถึงเซิร์ฟเวอร์เว็บแอปพลิเคชันของคุณหรือเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง เซิร์ฟเวอร์ต้นทางส่งการตอบกลับไปยังผู้เข้าชมทางไกล ในขณะเดียวกัน เซิร์ฟเวอร์ก็จะส่งสำเนาของการตอบกลับไปยัง CDN POP ที่อยู่ใกล้ผู้เข้าชมมากที่สุดในทางภูมิศาสตร์ด้วย
  3. เซิร์ฟเวอร์ CDN POP จะเก็บสำเนาในรูปแบบไฟล์แคช
  4. ครั้งต่อไปที่ผู้เข้าชมรายนี้หรือผู้เข้ารายอื่นๆ ในสถานที่นั้นสร้างคำขอที่เหมือนกันนี้ เซิร์ฟเวอร์การแคชจะเป็นฝ่ายส่งการตอบกลับ ไม่ใช่เซิร์ฟเวอร์ต้นทาง 

การเร่งแบบไดนามิก

การเร่งแบบไดนามิกคือการลดเวลาการตอบกลับของเซิร์ฟเวอร์ สำหรับคำขอของเนื้อหาเว็บแบบไดนามิกซึ่งเป็นผลจากเซิร์ฟเวอร์ CDN ตัวกลางระหว่างเว็บแอปพลิเคชันกับไคลเอ็นต์ การแคชทำงานกับเนื้อหาเว็บแบบไดนามิกได้ไม่ดี เนื่องจากเนื้อหาจะเปลี่ยนแปลงไปกับคำขอของผู้ใช้ทุกราย เซิร์ฟเวอร์ CDN ต้องกับเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ต้นทางอีกครั้งสำหรับคำขอแบบไดนามิกทั้งหมด แต่จะมีการเร่งกระบวนการด้วยการปรับการเชื่อมต่อระหว่างเซิร์ฟเวอร์ CDN กับเซิร์ฟเวอร์ต้นทางอย่างเหมาะสม

หากไคลเอ็นต์ส่งคำขอแบบไดนามิกไปยังเซิร์ฟเวอร์เว็บบนอินเทอร์เน็ตโดยตรง คำขออาจสูญหายหรือล่าช้าเนื่องจากเวลาแฝงของเครือข่าย รวมถึงอาจต้องใช้เวลาในการเปิดและปิดการเชื่อมต่อเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ในทางกลับกัน หากเซิร์ฟเวอร์ CDN ที่อยู่ใกล้เคียงส่งต่อคำขอไปยังเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง ไคลเอ็นต์ก็จะมีการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้และต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์ต่อไปนี้ควรเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อระหว่างกัน

  •  อัลกอริธึมการกำหนดเส้นทางอัจฉริยะ
  • ระยะห่างทางภูมิศาสตร์กับจุดเริ่มต้น
  • ความสามารถในการประมวลผลคำขอของไคลเอ็นต์ที่ลดขนาดลง

การประมวลผลตรรกะ Edge

คุณสามารถกำหนดโปรแกรมเซิร์ฟเวอร์ CDN Edge เพื่อทำการคำนวณเชิงตรรกะที่จะลดความซับซ้อนของการสื่อสารระหว่างไคลเอ็นต์และเซิร์ฟเวอร์ ตัวอย่างของสิ่งที่เซิร์ฟเวอร์ทำได้มีดังนี้

  • ตรวจสอบคำขอของผู้ใช้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแคช
  • ตรวจสอบความถูกต้องและจัดการคำขอของผู้ใช้ที่ไม่ถูกต้อง
  • ปรับเปลี่ยนเนื้อหาหรือปรับเนื้อหาให้เหมาะสมก่อนตอบกลับ

การเผยแพร่ตรรกะแอปพลิเคชันระหว่างเซิร์ฟเวอร์เว็บและ Edge เครือข่ายช่วยให้นักพัฒนาลดข้อกำหนดในการประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์ต้นทางและปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ได้

CDN ใช้ทำอะไรได้บ้าง

Content Delivery Network (CDN) จะปรับปรุงฟังก์ชันเว็บไซต์ทั่วไปและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ตัวอย่างกรณีใช้งานมีดังนี้

การส่งมอบเนื้อหาความเร็วสูง

ด้วยการผสานการส่งมอบเนื้อหาอินเทอร์เน็ตแบบคงที่และแบบไดนามิก คุณจึงสามารถใช้ CDN เพื่อมอบประสบการณ์ทั่วทั้งเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพสูงในระดับโลกแก่ลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น Reuters เป็นแหล่งข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดหาข่าวให้กับช่องชั้นนำ เช่น BBC, CNN, New York Times และ Washington Post ความท้าท้ายของสื่อประเภทข่าวสำหรับ Reuters คือการส่งมอบเนื้อหาข่าวสารให้กับลูกค้าทั่วโลกอย่างรวดเร็ว Reuters จึงใช้บริการ CDN ของ Amazon นั่นคือ Amazon CloudFront ร่วมกับ Amazon Simple Storage Service (Amazon S3) เพื่อลดการพึ่งพาการสื่อสารผ่านดาวเทียม และสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายที่มีราคาถูก ความพร้อมใช้งานสูง และเผยแพร่ไปทั่วโลกได้อย่างปลอดภัย

การสตรีมแบบเรียลไทม์

CDN ช่วยให้ส่งไฟล์สื่อที่มีคุณภาพสูงและสมบูรณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือและคุ้มค่า บริษัทที่สตรีมวิดีโอและเสียงใช้ CDN เพื่อเอาชนะความท้าทาย 3 อย่าง ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายแบนวิดท์ ขยายขอบเขต และลดเวลาการส่งมอบ ตัวอย่างเช่น Hulu เป็นแพลตฟอร์มการสตรีมวิดีโอออนไลน์ที่บริษัท Walt Disney เป็นเจ้าของ ทางแพลตฟอร์มใช้ Amazon CloudFront เพื่อสตรีมข้อมูลมากกว่า 20 GBps อย่างต่อเนื่องให้กับฐานลูกค้าที่กำลังเติบโต

การปรับขนาดแบบหลายผู้ใช้

CDN ช่วยรองรับผู้ใช้งานพร้อมกันจำนวนมากได้ ทรัพยากรของเว็บไซต์มีข้อจำกัดด้านจำนวนการเชื่อมต่อไคลเอ็นต์ที่จัดการได้ในแต่ละครั้ง แต่ CDN สามารถปรับขนาดอย่างรวดเร็วโดยการรับเวิร์กโหลดบางส่วนจากเซิร์ฟเวอร์แอปพลิเคชัน ตัวอย่างเช่น King เป็นบริษัทเกมซึ่งสร้างเกมที่มีการเชื่อมต่อทางสังคมแบบข้ามแพลตฟอร์ม สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลาจากอุปกรณ์ใดก็ได้ ในเวลาหนึ่ง King มีจำนวนผู้เล่นมากกว่า 350 ล้านคน และผู้เล่นเหล่านี้ก็เล่นเกม 10.6 พันล้านเกมต่อวันบนแพลตฟอร์ม

แอปพลิเคชันเกมของ King จะบันทึกข้อมูลเกมของผู้ใช้ไว้ในศูนย์ข้อมูลกลาง ทำให้ผู้ใช้เล่นเกมบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สูญเสียความคืบหน้า ศูนย์ข้อมูลนี้มีเป้าหมายคือการมอบประสบการณ์ที่สม่ำเสมอให้แก่ผู้ใช้ แม้ว่าผู้ใช้จะเข้าเล่นเกมจากอุปกรณ์เก่าที่มีแบนวิดท์จำกัด

King ใช้ Amazon CloudFront ในการส่งมอบเนื้อหาขนาดหลายร้อยเทราไบต์ทุกวัน และสูงสุดถึงครึ่งเพตะไบต์หรือมากกว่านั้นเมื่อมีการเปิดตัวเกมใหม่หรือเริ่มโปรแกรมการตลาดขนาดใหญ่

Amazon CloudFront คืออะไร

Amazon CloudFront คือบริการ Content Delivery Network (CDN) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูง การรักษาความปลอดภัย และความสะดวกของนักพัฒนา คุณสามารถใช้ Amazon CloudFront เพื่อทำงานต่างๆ ต่อไปนี้ได้

  • ส่งมอบข้อมูลผ่าน Point of Presence (POP) มากกว่า 450 จุดที่กระจายอยู่ทั่วโลก ด้วยการแมปเครือข่ายอัตโนมัติและการกำหนดเส้นทางอัจฉริยะ
  • ปรับปรุงการรักษาปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสการรับส่งข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึง รวมถึงใช้ AWS Shield Standard เพื่อป้องกันการโจมตีแบบ DDoS โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรับแต่งโค้ดที่คุณเรียกใช้กับ Edge เครือข่าย AWS โดยใช้ฟีเจอร์การประมวลผลแบบไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์เพื่อรักษาสมดุลของค่าใช้จ่าย ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
  • ปรับขนาดโดยอัตโนมัติเพื่อส่งมอบซอฟต์แวร์ แพตช์เกม และการอัปเดต IoT ด้วยอัตราการถ่ายโอนสูง

เริ่มสร้างบน AWS CloudFront ด้วยการถ่ายโอนข้อมูลฟรี 50 GB นาน 12 เดือน สร้างบัญชี AWS ฟรีวันนี้

ขั้นตอนต่อไปบน AWS

ดูแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ AWS CloudFront 
ลงชื่อสมัครใช้บัญชีฟรี

รับสิทธิ์การเข้าถึง AWS Free Tier ได้ทันที

ลงชื่อสมัครใช้งาน 
เริ่มต้นการสร้างในคอนโซล

เริ่มต้นสร้างในคอนโซลการจัดการของ AWS

ลงชื่อเข้าใช้